กระแสของการทำธุรกิจ "กัญชา" ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรียกว่า เป็นธุรกิจแห่งความหวังของคนที่แสวงหาโอกาสในการจับทางธุรกิจแห่งใหม่ๆ เพราะหากย้อนกลับไปก่อนการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด การจะขอปลูก ขอใช้ประโยชน์จากกัญชา ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อย รวมทั้งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ จนกระทั่งมีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ยิ่งจุดกระแสธรุกิจกัญชาให้ได้รับความนิยมมากขึ้น
แต่กว่าธุรกิจ "กัญชา" จะมาถึงวันนี้ มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ล้มหายตายจากไป ทั้งจากปัญหาด้านเงินทุน ความไม่พร้อมด้านองค์ความรู้ และที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนกติกาในการควบคุมกัญชาอยู่เป็นระยะ นับตั้งแต่การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ที่เรียกว่า เหมือนเข้าสู่ "สุญญากาศกัญชา" เพราะไม่มีกฎหมายเฉพาะออกมาควบคุม จากนั้นมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 เพื่อควบคุมกัญชาทุกส่วน รวมถึงสารสกัดจากกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ปิดความเสี่ยงที่เด็ก เยาวชนจะเข้าถึงกัญชา
จนกระทั่งมีการลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 65 และได้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ฉบับเก่า เพื่อควบคุมไม่ให้นำกัญชา โดยเฉพาะ "ช่อดอก" ไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ ห้ามสูบสมุนไพรควบคุมในสถานประกอบการ และห้ามขายผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ รวมทั้งการข่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือออนไลน์ และห้ามโฆษณา นับว่าเป็นอีกจุดเปลี่ยนของธุรกิจกัญชา ที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนที่หวังสร้างกำไรจากธุรกิจสายเขียวนี้ก็ต้องปรับตัวตั้งรับกันอีกรอบ
“ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ได้พูดคุยกับ "คุณชัชปัฐวี อัฏฐพรเมธา" ผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจกัญชา ซึ่งเริ่มต้นทำธุรกิจมาตั้งแต่ยุคที่หลายคนลองผิดลองถูกกับธุรกิจกัญชา และเป็นตัวแทนสมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน
"คุณชัชปัฐวี" ฉายภาพธุรกิจกัญชาในช่วงที่ผ่านมาว่า หากมองย้อนกลับไปในยุคเริ่มต้นของการทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับกัญชา นับตั้งแต่ก่อนที่จะมีการปลดกัญชาออกจากยาเสพติด ในตอนนั้นผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาจะต้องทำร่วมกับวิสาหกิจชุมชน หรือ ทำข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานรัฐเท่านั้น ต้องบอกว่า ที่ผ่านมามีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ ไปไม่รอด!!
หลายรายมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกัญชาขึ้น มีการลงทุน สร้างโรงเรือนที่มีมาตรฐาน ติดตั้งกล้องวงจรปิด มีรั้วรอบขอบชิด แต่พอถึงขั้นตอนการขอใบอนุญาตใช้เวลานาน บางแห่งรอเป็นปี ทำให้ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ขณะที่บางส่วนถูกเรียกผลประโยชน์ ถูกเรียกเก็บค่านายหน้า แลกกับได้ทำข้อตกลงความร่วมมือเพื่อปลูกกัญชา มีเบี้ยใบ้รายทางที่ต้องจ่าย สุดท้ายก็ไปไม่รอด!!
ขณะที่บางรายแม้จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ก็ต้องเจอกับ "สภาวะดีมานด์เทียม" ในตลาดกัญชา เกิดกระแสการปลูกกัญชา แต่ไม่มีตลาดรองรับ เพราะหลายคนลงมาทำก็เป็นเรื่องใหม่ เผื่อมีโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ เช่น การทำธุรกิจน้ำกัญชา ถึงขั้นมีการซื้อขายแฟรนไชส์ แต่สุดท้ายแล้วคนซื้อแฟรนไชส์ก็ไปไม่รอดเพราะไม่มีลูกค้า
"ในตอนนั้นคนไทยยังใหม่มากสำหรับเรื่องกัญชาในตอนนั้น ขาดความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งภาครัฐก็มีการโหมโรงกันโปรโมตผลประโยชน์ทางธุรกิจ รวมถึงการปลดล็อกกัญชา"
ขณะที่บางแห่งก็มีการตั้งสมาคมตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อหาผลประโยชน์จากชาวบ้านและระดมคนไปลงทุน พาคนไปขอใบอนุญาตและเก็บค่าดำเนินการ รวมถึงการสร้างเงื่อนไขให้ซื้อเมล็ดพันธุ์จากสมาคมแล้วก็ขายให้กันเอง สุดท้ายก็ไปไม่รอด และในช่วงที่วิสาหกิจชุมชนหันมาให้ความสนใจในการทำตลาดขายใบกัญชา ซึ่งพบว่าตอนนั้นมีราคาค่อนข้างสูง แต่เมื่อนำผลิตภัณฑ์ออกมาขายกลับพบว่าไม่สามารถไปต่อได้ รวมทั้งเมื่อมีราคาดีก็มีการขายตัดราคาผลผลิตกัน
จนกระทั่งมีการ "ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด" ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้ ทำให้มีปัญหาตามมาก็คือ คนที่ลงทุนในการประกอบกิจการในยุคก่อนที่จะมีการปลดล็อกไปแล้ว ก็ไม่อยากที่จะยอมรับกติกาใหม่ ซึ่งคนที่มาทีหลังสามารถปลูกได้ และขายได้ทันที ก็ทำให้เกิดปัญหา
เมื่อถามว่า การเปลี่ยนกฎเกณฑ์ควบคุมกัญชาในแต่ละช่วงส่งผลอย่างไร? "คุณชัชปัฐวี" อธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การออกประกาศควบคุมแต่ละฉบับที่ผู้มีอำนาจไม่ได้คิดถึงปลายทางว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง นับตั้งแต่แรกที่มีการปลดกัญชาออกจากยาเสพติด ซึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่ต่างจากการปลดแล้วเสรี "ขณะที่กฎเกณฑ์ที่ประกาศออกมาเพื่อควบคุมการใช้กัญชามีการเปลี่ยนไปตลอด" เมื่อกฎหมายไม่ชัดเจน ผู้ประกอบการก็ต้องรอตั้งรับเป็นแบบวันต่อวัน คอยดูว่าเมื่อประกาศออกมาอย่างไร กฎเกณฑ์อย่างไร ก็ต้องปรับเปลี่ยนกันวันต่อวัน เพราะไม่รู้ว่าต่อไปมาตรฐานใหม่จะเป็นอย่างไรบ้าง
ต้องยอมรับก่อนว่าในช่วงที่ผ่านมามีร้านขายกัญชา โดยเฉพาะมีกัญชาเพื่อสันทนาการเกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น ตั้งแต่มีการปลดล็อกในตอนแรก เมื่ออนุญาตให้เปิดร้านได้ ถึงเวลามีกฎหมายมากำกับดูแลก็ต้องนึกถึงผู้ประกอบการด้วย การมีประกาศฉบับใหม่ย่อมกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ขายกัญชาเพื่อสันทนาการแน่นอน โดยเฉพาะที่บอกว่าห้ามสูบในบริเวณสถานประกอบการ ซึ่งร้านส่วนใหญ่ต้องลงทุนสร้างที่สูบเฉพาะ หรือหากจะสูบในร้าน ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบการก็มีคำถามว่า มีร้านที่ขออนุญาตเปิดเป็นร้านกัญชาในระบบกว่า 3,000 ร้าน ซึ่งการจะไปหาแพทย์มาประจำที่ร้านคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถ้าประกาศมีผลบังคับใช้ ร้านเหล่านี้ก็จะต้องปิดไป เพราะไม่รู้ว่าทางเจ้าหน้าที่ จะเข้มงวดมากน้อยขนาดไหน
"วันนี้บ้านเราเดินไปตรงไหนตรงไหนก็มีร้านขายกัญชา ต้องยอมรับให้ได้ว่าเรากำลังเข้าสู่โมเดลในการใช้กัญชาทั้งทางการแพทย์และทางสันทนาการควบคู่กันไป" เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วต้องมีการออกกฎหมายควบคุมให้ชัดเจน การที่จะดันกัญชาให้เป็นกฎหมายต้องยอมรับก่อนว่าต้องมีการเพิ่มเนื้อหาเรื่องของสันทนาการ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม
“ที่ผ่านมาพยายามเรียกร้องมาตลอด ต้องแยกกฎหมายให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะกระทบ สิ่งที่ต้องการไม่ได้ให้เปิดเสรี แต่ต้องการการควบคุมให้ชัดเจน”
ส่วนของสันทนาการต้องระบุให้ชัดเลยว่า จะคุมคนใช้อายุเท่าไร จำกัดปริมาณซื้อขาย และการพกพา รวมถึงต้องมีใบอนุญาต ต้องทำให้ถูกต้องและชัดเจน ผู้ประกอบการก็จะได้สบายใจว่าเมื่อกฎหมายออกมาแล้วจะต้องมีการมานั่งจ่ายเบี้ยใบ้รายทาง หรือ ต้องปรับเปลี่ยนอะไรเพิ่มเติม
การใช้กัญชาถือว่าเป็นอีกหนึ่งด้านที่ต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึง แต่ต้องมีกฎหมายในการควบคุมให้ถูกต้อง หากมีการควบคุมคนใช้กัญชาจะไม่ถูกมองว่าเป็นอาชญากร หรือผู้ร้าย
กฎหมายไม่ควรเป็นการจำกัดสิทธิ์ประชาชน ต้องทำให้ถูกต้องเท่าเทียมกัน เพราะมีบทเรียนในช่วงที่ผ่านมาที่ทำให้หลายคนขาดทุนและล้มหายตายจาก "เมื่อธุรกิจกัญชายังผูกโยงกับกฎหมายควบคุมที่ยังไม่ชัดเจน ก็อาจมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไม่สามารถไปต่อได้อีกเช่นเดิม"
"คุณชัชปัฐวี" กล่าวด้วยกว่า สุดท้ายแล้วกฎหมายที่ออกมาต้องไม่ใช่การกีดกัน แต่ต้องเน้นการให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างทั่วถึง ไม่เช่นนั้นก็จะมีแต่นายทุนรายใหญ่ ที่สามารถเข้าถึงกัญชาได้ ไม่ต่างจากธุรกิจเหล้า เบียร์ ที่สุดท้ายแล้วมีกฎหมายออกมาควบคุม แต่ก็เอื้อให้คนที่มีสายป่านยาวกว่าที่ได้รับประโยชน์.