“เหนือ-อีสาน” ยังอ่วม หลังเกิดน้ำป่าจากเทือกเขาต่างๆ ไหลบ่า ผสมกับเขื่อน-อ่างเก็บน้ำหลายแห่งเร่งระบายน้ำ ส่งผลน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านและที่ทำกินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ รมว.ทส.สั่งอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศเฝ้าระวังเข้ม หากเสี่ยงต่ออุทกภัยน้ำป่าให้ปิดแหล่งท่องเที่ยวทันที รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพร้อมเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือ ที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากที่มีฝนตกลงมาทั่วพื้นที่ จ.เชียงราย ตั้งแต่เย็นวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้น้ำจากเทือกเขาดอยนางแล ไหลท่วมถนนพหลโยธิน ฝั่งตะวันตก พื้นที่ หมู่ 13 ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย ใช้สัญจรได้เพียง 1 ช่องจราจร และน้ำยังไหลเข้าท่วมพื้นที่หมู่ 7 หมู่บ้านนางแลใน และหมู่ 17 หมู่บ้านนางแลใหม่ ด้วย
ส่วนที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.มีรายงานว่าน้ำตกแม่กลางและน้ำตกผาดอกเสี้ยว มีปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงมากขึ้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯต้องจับตากระแสน้ำหลากตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับระดับน้ำในแม่น้ำปิง แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ เพิ่มระดับขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝนที่ตกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ก็ให้ล้นผ่านสปิลเวย์ไปตามคลองชลประทาน และคลองสายต่างๆ จึงแจ้งเตือนชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจจะเพิ่มสูงมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมตามชุมชนอีกหลายแห่ง ทั้งที่ จ.กำแพงเพชร น้ำจากเทือกเขาสว่างได้ไหลบ่าเข้าท่วมตลาด อ.พรานกระต่าย น้ำไหลทะลักเข้าไปในร้านค้าอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายให้กับเจ้าของร้านที่เก็บของไม่ทัน และที่ จ.พิจิตร น้ำป่าเขาซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ไหลทะลักเข้าท่วม 3 ชุมชน ใน ต.ทับคล้อ อ.ทับคล้อ ได้แก่ชุมชนตลาดใต้ ชุมชนสระหลวง และชุมชนสวนโพธิ์ ระดับน้ำสูง 50-70 ซม.
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ยังคงหนักในหลายพื้นที่ เมื่ออ่างเก็บน้ำหลายแห่งเร่งระบายน้ำออก ส่งผลกระทบต่อผู้อาศัยท้ายน้ำ รวมถึงแม่น้ำสาขาและลำห้วย น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมไร่นาเสียหายจำนวนมาก อาทิ ที่ จ.อุดรธานี 4 อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง ทยอยระบายน้ำ ทำให้น้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ ตามด้วย ต.เชียงยืน ต.นากว้าง ต.หมูม่น อ.เมืองอุดรธานี ได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า ส่วนเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ฝั่งตลิ่งแม่น้ำปาว ช่วงวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน
ด้านแม่น้ำลำชี บริเวณสะพานโนนเปลือย บ้านปากค่ายช่องแมว อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ขณะนี้น้ำล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายจำนวนมาก ขณะเดียวกัน น้ำป่าจากเทือกเขาภูแลนคา ไหลซัดพนังกั้นน้ำลำห้วยชีลอง พังเสียหาย จนน้ำทะลักเข้าท่วมนาข้าวใน อ.บ้านเขว้า เสียหายกว่า 500 ไร่ และท่วมถนนสาย 225 ชัยภูมิ-นครสวรรค์ บริเวณบ้านหนองบัวขาว เชื่อมต่อ อ.บ้านเขว้า รถวิ่งได้เพียงเลนเดียว ขณะที่ จ.ยโสธร น้ำในลำเซบายได้เอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมภายในหมู่บ้านกลางและบ้านสระเกษ ต.โพธิ์ไทร อ.ป่าติ้ว รวมถึงท่วมนาข้าวใน 5 ตำบล 14 หมู่บ้าน ของ อ.ป่าติ้ว เกษตรกรได้รับผลกระทบ 788 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมไปแล้ว 8,013 ไร่
ส่วนที่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด เมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 ก.ย.ชุดปฏิบัติการทางน้ำ หน่วยกู้ภัยโสก เข้าช่วยเก็บซากแม่วัวจมน้ำตายในสวน ในชุมชนบ้านโนนเชียงหวาง ต.โคกกกม่วง เป็นวัวแม่พันธุ์ อายุ 5 ปี น้ำหนักราว 120 กก. โดยนายหนูจันทร์ ปากวิเศษ เจ้าของวัว เปิดเผยว่า เมื่อเช้าวันที่ 16 ก.ย.ได้จูงวัวมาล่ามที่สวน ซึ่งเป็นพื้นที่สูงของหมู่บ้าน แต่ไม่คิดว่าน้ำจะท่วมสูงขึ้นเร็วขนาดนี้ สันนิษฐานว่าระหว่างน้ำขึ้น วัวที่ล่ามไว้อาจจมโคลนก่อนจะล้มศีรษะจมน้ำ แต่ไม่มีผู้พบเห็น วัวตัวนี้อายุ 5 ปี เป็นวัวแม่พันธุ์ที่เพิ่งตกลูก แต่มาล้มเสียก่อน
วันเดียวกัน นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช เปิดเผยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก หากเห็นว่ามีความรุนแรง สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ให้ออกประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวในทันที เบื้องต้นให้มีการประกาศแจ้งเตือน จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวัง เจ้าหน้าที่ชุดกู้ภัย เพื่อเข้าระงับยับยั้งเหตุการณ์วิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที